วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชาติพันธ์ภูไทหรือผู้ไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เขียนคำว่า “ผู้ไทย” นักวิชาการบางท่านใช้ “ภูไท” มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย และแคว้นสิบสองปันนา ดินแดนส่วนเหนือของลาว และเวียดนามติดต่อกับภาคใต้ของประเทศจีน ราชอาณาจักรไทยได้สูญเสียดินแดนสิบสองจุไทยให้แก่ ฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2431 (รศ. 107)
ในภาคอีสานของไทย ประชาชนทั้งหมดหาได้เป็นลาวทั้งหมด แต่มีชนหลายเผ่าพันธุ์และหลายภาษาปะปนกันอยู่ เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการมณฑลอุดรและมณฑลอีสานใน พ.ศ. 2449 นั้น ทรงเล่าว่าคนที่อยู่แถวลุ่มแม่น้ำโขงที่แตกต่างไปจากไทยล้านช้างมี 8 พวก หนึ่งใน 8 พวก คือ พวกผู้ไทยอยู่ในเขตเมืองสกลนคร และเรณูนคร (แอ่งอารยธรรมอีสาน, 280) ในบรรดาชนเผ่าต่าง ๆ พวกผู้ไทยนับว่ามีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่สูงกว่าพวกอื่น เพราะเคยอยู่ในบ้านเมืองที่มีความเจริญมาแล้วในเขตสิบสองจุไทถือมีความรุ่งเรืองไม่แพ้พวกล้านช้างนั่นเอง

ถิ่นเดิมก่อนอพยพ ชาวผู้ไทยจำนวนมากอาศัยกระจัดกระจายทั่วไปในบริเวณที่เรียกว่า “สิบสองจุไท” โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำดำ อยู่รวมกับเผ่าอื่น ๆ เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มแม่น้ำดำ แหล่งของชาวผู้ไทยแห่งนี้ อาจแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มผู้ไทยบริเวณเมืองไล หรือไลเจา ซึ่งมีชาวผู้ไทยในเมืองเจียน เมืองมุน เมืองบาง เมืองไล รวม 4 เมือง ดินแดนแถบนี้อยู่ใกล้จีน อากาศหนาว จึงเป็นผู้ไทยที่มีผิวขาว และรับอารยธรรมจากจีน โดยเฉพาะการแต่งกายนุ่งขาวห่มขาวในพิธีศพ จึงเรียกผู้ไทยกลุ่มนี้ว่า ผู้ไทยขาว

2. กลุ่มผู้ไทยบริเวณเมืองแถน หรือเมืองเดียนเบียนฟู ในปัจจุบัน ซึ่งมีชาวผู้ไทยอยู่ในเมืองควาย เมืองคุง เมืองม่วย เมืองลา เมืองโม เมืองหวัด เมืองซา รวม 8 เมือง กลุ่มนี้ผิวสีคล้ำกว่าผู้ไทยตอนบน นิยมแต่งกายด้วยผ้าฝ้ายพื้นเมืองย้อมครามเข้ม และอาศัยแม่น้ำดำเป็นแหล่งเกษตรกรรม จึงเรียกว่า ผู้ไทดำ
ชาวผู้ไททั้งสองกลุ่มนี้รวมกันแล้วจะเป็น 12 เมือง จึงเรียกว่าแคว้นสิบสองจุไท นอกจากนี้ยังมีชาวผู้ไทกระจัดกระจายตามแม่น้ำแดงในเขตตังเกี๋ยของญวนอีกด้วย

การอพยพเข้าสู่เมืองสกลนคร การอพยพของชาวผู้ไทยจากบริเวณลุ่มน้ำในเขตสิบสองจุไทเข้าสู่เมืองน้ำน้อยอ้อยหนูแหล่งที่อยู่เดิมของชาวผู้ไทดำบริเวณลุ่มแม่น้ำดำที่เมืองแถน ชาวผู้ไทดำได้เผชิญกับอำนาจของชาวผู้ไทยขาว จึงอพยพลงไปอยู่หัวพันทั้งห้าทั้งหก โดยเฉพาะเมืองเชียงขวางได้เป็นแหล่งของชาวผู้ไทยมานานราว 200 - 300 ปีมาแล้ว ต่อมาสันนิษฐานว่าเกิดความแห้งแล้งผู้คนจึงอพยพจากเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู ประมาณ 10,000 คน เข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์
- การอพยพจากเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูเข้าสู่เมืองวัง ชาวผู้ไทยที่อพยพมาดั้งเดิมทำไร่ไม่เคยทำนา จึงได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองวัง ซึ่งเป็นป่าดง และภูเขา แต่ยังคงมีปัญหากับพวกข่าซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเดิม จึงมีการเสี่ยงบุญวาสนาแข่งขันยิงธนูลูกหน้าไม้ให้ติดหน้าผาเพื่อเป็นหัวหน้าปกครอง แต่ปรากฏว่าลูกหน้าไม้ของชาวผู้ไทยติดเพราะมีขี้สูด ต่างกับหน้าไม้ของพวกข่า ซึ่งใหญ่โตและใช้กำลังแรงย่อมไม่อาจแทรกเข้าหินผาได้ เมื่อความทราบถึงเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์ จึงแต่งตั้งท้าวก่าให้เป็นพญาก่าปกครองเมืองวัง และขึ้นตรงต่อเวียงจันทน์
- จากประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 (พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) กองทัพไทยซึ่งมีพระมหาสงครามกับอุปราชเมืองเวียงจันทน์ได้ยกกำลังมากวาดต้อนผู้คนตามหัวเมืองขึ้นเวียงจันทน์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2384 ทำให้ชาวผู้ไทยในเมืองวังต้องรวบรวมกำลังกันสู้พลางหนีเข้าไปอาศัยในดินแดนญวน ปล่อยให้กองทัพไทยเข้าไปทำลายเมืองเสียหาย เมื่อกลับมาที่เมืองวัง ราชวงศ์ (อิน) เมืองสกลนคร เชื้อสายเดิมของเมืองมหาชัยกองแก้ว จึงเกลี้ยกล่อมและได้ตังเจ้าลีหรือโฮงกลางพร้อมด้วยครอบครัวและไพร่พลชาวผู้ไทยอพยพข้ามโขงเข้ามาอยู่ในเมืองสกลนคร โดยตั้งบ้านเมืองที่พังพร้าว แปลว่า รีบด่วน

เส้นทางอพยพของชาวผู้ไทย แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ
1. เส้นทางเมืองเว้ หรือเรณู คำชะอี หนองสูง
2. เส้นทางที่ต่อจากเรณูแต่เลยไปทางตะวันตก ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สหัสขันธ์ และอำเภอเขาวงกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน
3. ยังไม่สันนิษฐานได้ว่าแยกมาจากเส้นทางที่ 1 หรือเส้นทางที่ 2 แต่มาตั้งที่วาริชภูมิ เมืองจำปา (บ้านนาเหมือง อำเภอพังโคน) บ้านม่วงโพนไค (อ.บ้านม่วง สกลนคร)

ความเชื่อทางศาสนาของชาวผู้ไทย เป็นความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น เชื่อภูตผีวิญญาณที่ทำให้ป่วยไข้ เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เชื่อหลักพุทธศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตร ความเชื่อคติพราหมณ์แบบชาวบ้าน

พิธีกรรมกับศาสนาของชาวผู้ไทย ความแตกต่างของพิธีกรรมขึ้นอยู่กับประเภทของผีแต่ละชนิด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1. ผีฟ้าหรือเทวดา
2. ผีเจ้าหรือเจ้าผี
3. ผีเลวหรือผีสัญญา เช่น ผีบรรพบุรุษหรือผีปู่ตา ผีตระกูล ผีเรือน

ความเชื่อเรื่องผีมเหสักข์ของชาวผู้ไทย พรรณานิคม เรียกผีเจ้าปู่ บางคนเรียกเจ้าหาญแดงจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 19 ค่ำ เดือน 4 โดยนำข้าวปลาอาหาร ซึ่งนิยมอาหารคาวเลือด ชาวบ้านจึงนำควายไปฆ่าที่ป่าหน้าศาล แล้วทำลาบพร้อมใส่เลือดสด ๆ ผสมคลุกข้าว จัด 8 สำรับ ไปถวาย และขาดไม่ได้คือเหล้า โดยมีผู้ทำพิธีกรรมที่เริ่มด้วยพิธีกร คือ จ้ำ หรือกวานจ้ำ
ความเชื่อเรื่องผีนา คือ ผีที่อยู่ตามทุ่งนาเพื่อคุ้มครอง จะเริ่มทำพิธีกรรมนี้ในต้นฤดูฝนก่อนการไถคราด พิธีบูชาทำง่าย ๆ คือ นำข้าวปลาอาหารใส่กระทง รวมทั้งดอกไม้ ธูปเทียน พิธีนี้เรียกว่า เลี้ยงผีตาแฮก หรือเลี้ยงผีครั้งแรก

ความเชื่อเรื่องผีเรือน คือ ผีของบรรพบุรุษ ผีลูกหลานที่เคยอยู่ในบ้านเรือนหรือไม่ได้อยู่บ้านเรือน ที่ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้นผีเรือนจึงมีหลายตน เช่น ผีอารักษ์ใหญ่ หรือผีเจ้าที่เจ้าทาง ผีปู่หรือผีตระกูล เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเจ้าของบ้านมากที่สุด และเป็นใหญ่อยู่ในบ้านเรือน

ความเจ็บป่วยและการรักษาพยาบาล ความเชื่อทางไสยศาสตร์ เซอร์ เจมส์ เฟรเซอร์ เป็นคนแรกที่ศึกษาเรื่องไสยศาสตร์กับการรักษาคนไข้ วิธีการรักษาจะต้องแก้ด้วยผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติจะเกิดจากผู้ที่ใช้ คือ หมอผี ไม่ใช่รักษาด้วยสมุนไพร หรือยาตำราหลวง และยังมีความเชื่อที่ว่าอาจจะเกิดการจากผู้ที่ใช้คาถาอาคม




ที่มา : เอกสารประกอบการสอนวิชาวัฒธรรมแอ่งสกลนคร. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 2548.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น