วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หอมกรุ่นกลิ่นสาว ชาวภูไท




อ้างอิงจาก www.thaihof.org/content/หอมกรุ่นกลิ่นสาว-ชาวภูไท


ชาว ภูไทเป็นหนึ่งในชนพื้นเมืองที่มาอาศัยในดินแดนสยาม ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน โดยคนทั่วไปมักจะซาบซึ้งถึงชาวภูไทในเรื่องของความสุภาพนุ่มนวล และความงดงามของสตรีชาวภูไท ปัจจุบันเมื่อการท่องเที่ยวแทรกซึมเข้าไปในชุมชน วัฒนธรรมและศิลปะเฉพาะตัวเช่นภูไทได้รับความสนใจอย่างมาก ถึงขนาดมีทัวร์และโฮมเสตย์ให้เยี่ยมชมและพักแรมในหมู่บ้านภูไทเลยทีเดียว

ความที่ชาวภูไทมีพื้นเพสืบสายมายาวนาน ย่อมมีของดีติดตัวตามสไตล์ภูไท คนในยุคดิจิตอลสืบค้นลงไปในสารสังเคราะห์ แต่ชาวภูไทกลับนำเอาสมุนไพรใกล้ตัวนำมาใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพผิวพรรณของตัว เอง และยังมีสรรพคุณแบบทูอินวัน คือ สุขกายและหอมชื่นใจด้วย

ตำรับความงามของสาวภูไทที่จะเล่าให้ฟังนี้ ได้มาจากการทำงานเก็บข้อมูลของคณะวิจัย นำทีมโดย ดร.อุษา กลิ่นหอม แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงพื้นที่ไปเรียนรู้ในชุมชน พบกับผู้ใช้ตัวจริงเสียงจริงที่นำชีวิตทั้งชีวิตผ่านการศึกษาทดลองมากับตัวเอง ประสบการณ์สูตรความงามเด็ดๆ นี้ ได้รับการเปิดเผยจาก สาวงามวัยเจ็ดสิบอัพ ๑ ท่าน และหกสิบอัพ ๒ ท่าน คือ คุณแม่กอง คำสุรินทร์ อายุ 73 ปี แม่สา คำสุข อายุ 68 ปี และแม่เจริญศรี โพธิ์เมือง อายุ 60 ปี ซึ่งทั้งสามท่านนี้อยู่ที่ บ้านดงคำเดือย ต. คำเขื่อนแก้ว อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ

ผู้อ่านอาจนึกแปลกใจว่า สาวภูไทและวัฒนธรรมของชาวภูไทที่คนทั่วไปรู้จักต้องไปที่ จ.สกลนครมิใช่หรือ คำตอบคือถูกต้อง แต่ไม่ถูกทั้งหมด เนื่องจากประวัติศาสตร์การเข้าตั้งถิ่นฐานของชาวภูไทในดินแดนสยามของเรานั้น มีด้วยกันหลายครั้ง ในสมัยกรุงธนบุรี ๑ ครั้ง ตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ๒ ครั้ง คือ รัชกาลที่ ๑ และ รัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นสมัยที่มีการเข้ามาของชาวภูไทมากที่สุด หรือเป็นการอพยพประชากรครั้งใหญ่ที่สุดจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ใน ประเทศไทย มีทั้ง ภูไท กะเลิง โซ่ ญ้อ แสก โย้ย ข่า ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสาน ส่วนลาวพวน ลาวเวียง มาตั้งถิ่นฐานทั้งในภาคอีสานและภาคกลาง เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม เป็นต้น

ชาวภูไทที่เข้ามาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ ตามประวัติศาสตร์แบ่งออกได้ถึง ๘ กลุ่ม ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ขยายชุมชนของตนออกไป โดยที่มีแหล่งพักพิงที่ต่างกันออกไปด้วย นับได้ถึง ๙ จังหวัด ๓๓ อำเภอ ๔๙๔ หมู่บ้านสำหรับชาวภูไทในจังหวัดสกลนคร ถือเป็นชาวภูไทกลุ่มใหญ่ที่สุดก็ได้ เพราะมีชาวภูไทอยู่ถึง ๙ อำเภอ ๒๑๒ หมู่บ้าน จังหวัดนครพนม 5 อำเภอ 131 หมู่บ้าน จังหวัดมุกดาหาร 5 อำเภอ 68 หมู่บ้าน จังหวัดกาฬสินธุ์ 5 อำเภอ 63 หมู่บ้าน จังหวัดหนองคาย 3 อำเภอ 6 หมู่บ้าน จังหวัดอำนาจเจริญ 2 อำเภอ 5 หมู่บ้านจังหวัดอุดรธานี 5 หมู่บ้าน 2 อำเภอ จังหวัดยโสธร 3 หมู่บ้าน 1 อำเภอ จังหวัดร้อยเอ็ด 1 หมู่บ้าน (โพนทอง)

ดังนั้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอชานุมาน บ้านของสตรีภูไทที่ให้ข้อมูลไว้ คือ หนึ่งในสองอำเภอที่ชาวภูไทตั้งถิ่นฐานมานานนับร้อยๆ ปี ซึ่งกลิ่นหอมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสาวชนเผ่าภูไทนี้ หากใครมีโอกาสได้มาเยือนบ้านดงคำเดือย ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ก็จะได้สัมผัสกับกลิ่นหอมพิเศษสุด จากแป้งหอมภูไท ใครได้ดมกลิ่นแล้วจะติดตรึงใจไปอีกนาน

ในหมู่บ้านดงคำเดือยนี้ สตรีชนเผ่าภูไทแทบทุกครัวเรือนรู้จักปรุงใช้กันทุกคน ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของการพึ่งพาตนเองและใช้ชีวิตแบบพอเพียง เนื่องจากแป้งหอมนั้นได้มาจากไม้หอมที่ปลูกอยู่แล้วในครัวเรือน นอกจากความหอมเฉพาะแล้วแป้งหอมยังใช้ทาแก้ผดผื่นคัน และช่วยให้ผิวพรรณสดใสตามแบบฉบับของหญิงสาวชาวภูไท ดังกลอนนิรนาม

“กลิ่นหอมหวลยวนใจชวนคิดถึง
เฝ้าคะนึงหลงใหลในความหอม
กลิ่นหอมอื่นหมื่นใดไม่อาทร
สุดอาวรณ์หอมกลิ่นแป้งแห่งภูไท”

ส่วนประกอบของแป้งหอมภูไท ๑.เครือตั้งตุ่น ๒.ใบอ้ม ๓.ใบคำพอง ๔.ขมิ้น ๕.ใบเนียม ๖.ใบคุด ๗.ว่านหอม ๘.ใบเสน ๙.รากแนงหอม

วิธีปรุง นำส่วนผสมทั้งหมดมาฝานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไปนึ่งรวมกัน โดยให้ใช้ใบ
ตองห่อส่วนผสมทั้งหมดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหอมหรือกลิ่นระเหยออกไปหมด หลังจากนึ่งเสร็จแล้วก็เอา
ส่วนผสมทั้งหมดมาตากแดดให้แห้งจนกรอบ แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดมาบดให้เป็นผง

วิธีใช้ นำผงแป้งหอมมาผสมกับขมิ้นแล้วทาบริเวณผิวหนังและร่างกายตามที่ต้องการ
สรรพคุณ กลิ่นจะคล้ายยาหอมขับลม ใช้ดมแก้งวิงเวียน ใช้ทาแก้ผดผื่นคัน ปวดแสบปวดร้อนตามร่างกาย และเป็นการเพิ่มความหอมให้กับร่างกายได้อีกด้วย และในสมัยโบราณสตรีหลังคลอดบุตรจะใช้ทาผิว ทำให้ผิวพรรณสวยงามเหมือนเมื่อครั้งที่ยังเป็นสาวก่อนคลอดบุตร

นอกจากนี้ชาวภูไทสมัยโบราณจะใช้ผงแป้งหอมผสมกับขี้ผุยมะพร้าว และน้ำยางบง เพื่อทำเป็นธูปหอมจุดให้ควันหอมอบอวลทั้งบ้าน อยากกระซิบว่าเจ้าหน้าที่มูลนิธิสุขภาพไทย นำเอาผงแป้งหอมชาวภูไท มาจากงามมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ ๓ ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ(สสส.) และเครือมติชน


นำมาใส่ไว้ในรถยนต์ พอถูกแดดจัดๆ ในเมืองกรุง กลิ่นหอมอ่อนจากในถุงพลาสติกช่วยให้ขับรถในเมืองคลายเครียดไปได้มากจ๊ะ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น